Carbon Credit กับการปรับตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Last updated: 18 ส.ค. 2567  |  74 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Carbon Credit กับการปรับตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกัน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศและสภาพแวดล้อมโดยรวม หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จึงได้มีมาตรการที่จะช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องบอกว่ามีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาค่อนข้างมาก คืออุตสาหกรรมกระดาษนั่นเอง

โดยเฉพาะกระบวนการผลิตกว่าจะมาเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษหนึ่งใบนั้น จะผ่านขั้นตอนกว่า 6-8 ลำดับตั้งเเต่กระบวนการจากโรงต้มกระดาษ การประกบลอนกระดาษ การพิมพ์สีลงแผ่นกระดาษ เเละการขึ้นรูปกล่องในขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งมอบงานให้ลูกค้า ดังนั้นการนำเอา Carbon Credit มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ สู่วิถีการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต

 

Carbon Credit คืออะไร?
Carbon Credit หมายถึงสิทธิที่เกิดมาจากความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการดูดกลับหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานรับรองซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในประเทศไทยจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) องค์กรมหาชนที่ดำเนินงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง รับรองโครงการ โดย Carbon Credit หนึ่งเครดิตจะเท่ากับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ในปริมาณหนึ่งตัน  


ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งตลาดคาร์บอนหรือ Carbon Market ขึ้นมาเพื่อทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเครดิตคาร์บอน ซึ่งการรับรอง Carbon Credit จะต้องผ่านการตรวจสอบเพื่อยืนยันได้ว่า Carbon Credit ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริง ซึ่งในประเทศไทยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานของ อบก. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เริ่มทำการเปิดแพลตฟอร์มซื้อขาย Carbon Credit ที่ผ่านการรับรองจาก อบก. ซึ่งตรงนี้ยังเป็นการดำเนินงานแบบสมัครใจ แต่ในอนาคตก็อาจจะเป็นมาตรการบังคับหากมีกฎหมายเกี่ยวกับ Carbon Credit เกิดขึ้นมา  
 
การผลิตกล่องกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ Carbon Credit เข้ามาเพื่อเป็นกลไกในการปรับปรุงกระบวนการผลิตต่าง ๆ ได้ เช่น ลดการใช้พลังงานฟอสซิลแล้วปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทน การส่งเสริมการใช้วัสดุ recycled 100% หรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นการผลิตกระดาษ สำหรับการทำกล่องกระดาษที่ใช้วัสดุรีไซเคิล 100% หรือการผสมผสานวัสดุใหม่เท่ากับวัสดุรีไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดปริมาณขยะและพลังงานที่ต้องใช้ในการกำจัดขยะ นอกจากนี้การปรับปรุงกระบวนการหรือขั้นตอนในการผลิตไปจนถึงการกำจัดของเสียด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถลดพลังงานและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสได้รับ Carbon Credit ที่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับองค์กรในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย  
 
แนวทางการปรับปรุงกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับ Carbon Credit


•การใช้พลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานฟอสซิล


•การจัดการของเสีย การพัฒนากระบวนการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์จากของเสียให้ได้มากที่สุด


•การใช้วัตถุดิบรีไซเคิล การเลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือวัตถุดิบ recycled 100% รวมไปถึงส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้มากขึ้น ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น 


•การตรวจสอบและรายงาน ติดตามตรวจสอบและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหาวิธีการลดและปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น


•สนับสนุนโครงการที่ลดการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โรงงานอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์นอกจากจะทำการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนเองแล้ว การสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่น โครงการปลูกป่าเพื่อดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการทำ Carbon Credit ได้เช่นกัน
 
Carbon Credit สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน 
การนำเอา Carbon Credit มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นแนวทางและเครื่องมือที่สำคัญที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ได้พัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในสายตาผู้บริโภคในฐานะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี 
 
ถึงแม้ว่า Carbon Credit จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน แต่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์นั้นยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการซื้อ Carbon Credit ที่อาจมีราคาสูงเกินไปสำหรับบางองค์กร การตรวจสอบและประเมินผลกระทบที่แท้จริงของโครงการชดเชยคาร์บอนที่ยังค่อนข้างยากและซับซ้อน อีกทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตที่จะสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็อาจเป็นเรื่องที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม ดังนั้นการนำเอา Carbon Credit มาปรับใช้และค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกใบนี้ได้ 
 
 
 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้